วันอาทิตย์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ปัญหาการจราจรติดขัด

เมืองใหญ่ทั่วโลกประสบปัญหาการจราจรติดขัด  ยิ่งเมืองที่ไม่มีระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ  ปัญหายิ่งรุนแรง อย่างมหานครลอสแองเจลลีส และวอชิงตัน ดีซี  ส่วนนครลอนดอนของอังกฤษแม้จะมีรถโดยสารสาธารณะและระบบรถไฟใต้ดิน แต่จราจรก็ยังติดขัดอย่างมาก วันหนึ่งๆ ต้องเสียเวลาติดอยู่บนถนนนับชั่วโมง  

จนทางการต้องนำมาตรการเก็บเงินรถที่จะผ่านเข้าไปในย่านธุรกิจกลางเมืองแบบสิงคโปร์มาใช้เมื่อต้นปีกลายนี้ และสามารถลดการติดขัดของการจราจรลงได้ระดับหนึ่ง  จนหลายเมืองใหญ่ๆ ในยุโรปดำริจะนำไปทดลองใช้บ้าง  มาตรการช่องจราจรสำหรับรถมวลชนหรือช่องจราจรที่จัดให้รถที่มีคนนั่งตั้งแต่ 2-3 คนขึ้นไปเข้าไปใช้ได้ ที่มีทั้งแบบไม่เก็บค่าใช้ทางและที่เก็บค่าใช้ทางได้ถูกนำมาใช้ในประเทศต่างๆ 
ในสหรัฐอเมริกาการใช้ช่องจราจรมวลชน จะเก็บค่าใช้ทางแปรตามช่วงเวลาและตามความคับคั่งมากน้อยของการจราจร คือในช่วงเวลาเร่งรัดเช้า-เย็นเก็บในอัตราที่แพงกว่า  ช่วงเวลาอื่นที่การจราจรเบาบางเก็บอีกอัตราหนึ่ง  บางเส้น ทางที่เก็บตามความคับคั่งของการจราจรจะมีป้ายบอกข้อความ (variable message sign board)  แจ้งให้ผู้ใช้ทางทราบถึงความคับคั่งของการจราจรและอัตราค่าผ่านทางในช่วงเวลาและช่วงของทางในขณะนั้นด้วย รถยิ่งแน่นยิ่งเก็บแพง เพื่อกันมิให้รถเข้าไปใช้และเพิ่มความคับคั่งมากยิ่งขึ้นไปอีก  
ที่เขาทำอย่างนี้ได้เพราะค่าผ่านทางจ่ายด้วยการ์ดจึงไม่เสียเวลา  และไม่มีปัญหาเรื่องค่าใช้ทางที่แปรเปลี่ยน การใช้มิติที่สามคือทางยกระดับหรือก่อสร้างอุโมงค์ถนนใต้ดิน มิใช่การแก้ปัญหาการจราจรที่ถูกต้อง  เพราะยิ่งส่งเสริมให้คนใช้รถยนต์ส่วนบุคคลมากขึ้น แทนที่จะปรับปรุงหรือจัดให้มีระบบขนส่งสาธารณะที่สะดวกรวดเร็ว เพื่อให้คนทิ้งรถหันมาใช้การขนส่งที่ขนส่งผู้โดยสารได้เที่ยวละมากๆ ไม่เปลืองพื้นที่ผิวจราจร
ในสหรัฐอเมริกาได้มีการสำรวจถึงสาเหตุที่ทำให้การจราจรติดขัด ดังนี้
 1. สภาพถนนที่เป็นคอขวด   40 %
 2. มีอุบัติเหตุเกิดบนถนน    25 %
 3. สภาพอากาศ ฝนตก หิมะตก  15 %
 4. มีงานก่อสร้างหรือซ่อมถนน   10 %
 5. จังหวะสัญญาณไฟจราจรไม่ดี   5 %
 6. เหตุการณ์พิเศษ มีงานหรือกิจกรรม  5 %
                     รวม                     100 %

จากผลการสำรวจนี้เห็นได้ว่าพื้นผิวจราจรที่เปลี่ยนแปลงมีช่องจราจรลดลงเป็นคอขวดเป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้รถต่างๆ ต้องเบี่ยงเบนเปลี่ยนช่องจราจรเพื่อผ่านพ้นช่องแคบของคอขวดหรือจุดที่เกิดอุบัติเหตุบนถนน ความอะลุ่มอล่วยและความร่วมมือกันเท่านั้นที่จะผ่อนปรนปัญหานี้ได้  ในประเทศไทยหากพิจารณาถึงสาเหตุของจราจรติดขัดข้างต้นแล้ว จังหวะสัญญาณไฟจราจรที่ไม่เหมาะสมน่าจะมีผลกระทบต่อการจราจรมากกว่า  เพราะหลักการของการใช้ไฟสัญญาณจราจรนั้น พยายามทำให้รถผ่านทางแยกไปให้ได้มากและปลอดภัยที่สุดในช่วงระยะเวลาเท่าๆ กัน 
เมื่อได้ไฟเขียวรถควรวิ่งผ่านทางแยกอย่างพรั่งพรู มีระยะห่างระหว่างรถ (gap) ไม่มากนัก เมื่อใดที่ gap เริ่มห่างแสดงว่ารถเริ่มผ่านอย่างไม่พรั่งพรูต่อเนื่อง ควรหยุดเพื่อเปิดเวลาให้รถในอีกทิศทางหนึ่งผ่านทางแยกไป  การจัดจังหวะสัญญาณไฟ (signal phasing) แบบนี้รถจะผ่านทางแยกได้มาก  บางท่านอาจแย้งว่าในแต่ละวงรอบของจังหวะสัญญาณไฟ จะมีช่วงเริ่มต้นออกรถที่เสียเวลาไป (starting delay) ประมาณ 1-3 วินาทีขึ้นกับความพร้อมและตื่นตัวของผู้ใช้รถ แต่ปัจจุบันมีสัญญาณไฟที่มีเวลาบอกไว้ด้วย ช่วยให้ผู้ใช้รถรู้ตัวก่อนและเตรียมตัวออกรถได้เร็วขึ้นเมื่อได้รับสัญญาณไฟเขียว ปัจจุบันตำรวจจะโบกเร่งให้รถวิ่งผ่านทางแยกทั้งที่ยังอยู่ห่างไกล ทำให้ช่วงจังหวะไฟเขียวช่วงนั้นมีรถผ่านได้เพียงไม่กี่คันเท่านั้นเป็นการสูญเปล่าของเวลาสัญญาณไฟ การใช้ระบบสัญญาณไฟจราจรแบบเชื่อมโยงต่อเนื่องโดยทุกทางแยกต่อวงจรเชื่อมโยงกันและควบคุมโดยศูนย์ควบคุม เมื่อรถวิ่งผ่านทางแยกหนึ่งแล้ววิ่งต่อไปด้วยความเร็วคงที่อันหนึ่งจะได้จังหวะสัญญาณไฟเขียวให้วิ่งผ่านแยกต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง ได้เคยนำระบบนี้มาทดลองใช้แล้วทั้งในกรุงเทพและที่เชียงใหม่ แต่ข้อจำกัดอยู่ที่ถนนในบ้านเราไม่ได้เป็นบล็อก จึงไม่ค่อยประสบความสำเร็จ ในช่วงเวลาเร่งด่วนเช้าและเย็น เจ้าหน้าที่ยังนิยมที่จะเปิดปิดสัญญาณไฟจราจรเองแทนที่จะปล่อยอัตโนมัติตามจังหวะที่ตั้งไว้ และมักจะเปิดช่วงสัญญาณไฟเขียวในแต่ละทิศทางนานๆเพื่อระบายรถให้ผ่านไปจนไม่มีหางแถว เป็นการสูญเสียเวลาของไฟเขียวที่ควรจะให้รถผ่านไปอย่างพรั่งพรู

ในสหรัฐอเมริกา ปัญหาจราจรติดขัดได้ถูกจัดให้เป็นปัญหาระดับชาติ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการขนส่งออกมารณรงค์แก้ไขโดยกำหนดเป็นยุทธ์ศาสตร์ของประเทศ และวางหลักการแก้ไขไว้ 5 ประการหลัก ดังนี้

   ลดความคับคั่งในเขตเมือง โดยขอความร่วมมือจากชุมชนในเขตเมืองนั้นในเรื่องต่อไปนี้

1. จัดให้มีการเก็บเงินเมื่อรถจะเข้าสู่เขตเมืองชั้นในที่หนาแน่น โดยแปรเปลี่ยนอัตราค่าผ่านเข้าเมืองตามความคับคั่งของการจราจร
2.    จัดให้มีระบบรถโดยสารด่วนสาธารณะ เพื่อจูงใจให้คนใช้ระบบขนส่งสาธารณะและลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล
3. ขอความร่วมมือจากกลุ่มนายจ้างที่มีลูกจ้างมากๆ ให้นำระบบสื่อสารทันสมัยมาใช้ในการติดต่องาน (tele communication)  เพื่อลดการเดินทางติดต่อกันลง และปรับเวลาเข้าและเลิกงานให้เป็นแบบเลื่อมเวลากัน

 ส่งเสริมให้มีการพัฒนาการดำเนินการและใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อให้การติดต่อสื่อสาร การกระจายข้อมูลการจราจรเป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็ว โดย

1. ส่งเสริมภาครัฐให้จัดหาทุนมาพัฒนาด้านการจราจร จัดให้มีการกระจายข่าวข้อมูลสภาพการจราจรในขณะนั้น (real time) ให้แก่ผู้ใช้ทางผ่านระบบต่างๆ เช่น ป้ายบอกข้อความ วิทยุ และอินเตอร์เน็ท
2. นำเอาระบบขนส่งอัจฉริยะ  Intelligent Transport System, ITS. มาช่วยในการลดปัญหาการจราจรคับคั่ง
3. ปรับปรุงหลักการปฏิบัติเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ให้สามารถแยกรถคู่กรณีได้โดยเร็ว โดยการปรับแก้กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง

 ร่วมมือกันจัดให้มีการแข่งขันกันในการแก้ไขปัญหา โดย

1. เลือกถนนที่มีการติดขัดมาก 2 – 3 ตอน และต้องมีการลงทุนเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรระยะยาว แล้วปล่อยให้มีการแข่งขันกันในการดำเนินการบริหารจัดการให้บรรลุเป้าหมาย 
2. หาวิธีการที่ทันสมัยมาเพื่อพัฒนาการแก้ไขปัญหารถติด และมองหาแหล่งงบประมาณทางเลือกอื่นที่จะนำมาใช้พัฒนาด้วย
3. ถนนที่ต้องได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างรีบด่วน ให้จัดสรรงบประมาณให้อย่างรวดเร็วทันทีจากกองทุนหรือเงินพิเศษจากโครงการแก้ไขปัญหาจราจรติดขัด

 กำหนดจุดที่มีการติดขัดด้านการขนส่งสินค้า และกำหนดนโยบายระยะยาวในการแก้ไขปัญหาความคับคั่งของการขนส่งสินค้าให้เป็นนโยบายแห่งชาติ

1. ปรับปรุงคณะทำงานในระดับกรมที่มุ่งเฉพาะระบบการขนส่งแต่ละประเภท (mode) ให้เป็นคณะใหญ่ขึ้นเพื่อรวมเอาระบบการขนส่งประเภทต่างๆเข้ามาอยู่รวมกัน และรวบรวมผู้ประกอบการขนส่งในระบบต่างๆมาร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดแนวทางแก้ไขทั้งระยะปานกลางและระยะยาว โดยประสานระบบการขนส่งต่างๆเข้าด้วยกัน
2. รวบรวมผู้ประกอบธุรกิจต่างๆทั้งอุตสาหกรรม เกษตรกรรมและเทคโนโลยีที่ต้องมีการขนส่งบริการ และผู้ประกอบธุรกิจด้านขนส่ง และ   logistics เข้ามารวมกัน และจัดระบบบริหารแบบมี CEO เป็นผู้กำกับดูแล
3. จัดให้มีบอร์ดอาวุโสเพื่อแก้ไขปัญหาการติดขัด โดยจัดลำดับความสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในระดับชาติ เพื่อแก้ไขปัญหาความคับคั่ง
เร่งรัดโครงการเพื่อเพิ่มศักยภาพในการขนส่งทางอากาศ และกำหนดหลักเกณฑ์การจัดสรรงบประมาณในอนาคต

1. ส่งเสริมให้มีการพัฒนาระบบการขนส่งทางอากาศที่ทันสมัย มีขีดความสามารถในการขนส่งได้ปริมาณมากขึ้น และลดการติดขัดของการจราจรทางอากาศ
2. ปรับปรุงประสิทธิภาพและลดความล่าช้า (delay) ที่สนามบินสำคัญๆ ในระยะใกล้นี้ต้องแก้ไขการควบคุมการบินที่มีเที่ยวบินหนาแน่นมาก ในระยะยาวอาจต้องแก้ไขเรื่องพื้นที่น่านฟ้า และใช้หลักการตลาดมาบริหารจัดการลดความคับคั่งที่สนามบินที่หนาแน่นมากๆ
3. ให้ทุกองค์กรให้ความสำคัญต่อการพัฒนาขีดความสามารถในการขนส่งทางอากาศให้ได้ปริมาณมากขึ้น
4. ต้องไม่ลืมถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นจากการพัฒนาข้างต้นด้วย

ทุกประเทศจะต้องพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาการจราจรคับคั่งติดขัดทั้งด้านการขนส่งคนและสินค้า การแก้ไขมิได้อยู่ที่การลดอัตราการเติบโตของการขนส่ง แต่ต้องหาวิธีการใดๆที่มีประสิทธิภาพมาแก้ความติดขัดให้บรรเทาลดลง การลงทุนเพื่อแก้ปัญหาจราจรติดขัดนั้นเป็นการลงทุนที่ถูกต้องคุ้มค่า เพราะช่วยลดค่าใช้จ่ายของผู้ใช้รถใช้ถนน ไม่เสียเวลาเดินทาง ทำให้การเดินทางและการขนส่งสินค้ามีความแน่นอนตรงต่อเวลา 

การคมนาคมดีย่อมส่งเสริมให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตขึ้นด้วย  เศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นนั้นสร้างงานให้ผู้คนมีรายได้ รวมทั้งการแก้ไขปัญหาจราจรทำให้มีงานเกิดขึ้นมากมายด้วย แม้รัฐบาลจะขาดแคลนงบประมาณเพียงใด ก็ต้องหาแนวทางอื่นมาช่วยในการลงทุนเพื่อการนี้  การที่รัฐบาลไทยให้เอกชนมาลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าใต้ดิน 3 สายด้วยระบบสัญญาแบบ Design – Build and Operate นั้นก็เป็นวิธีการหนึ่งที่ให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนในการพัฒนาระบบขนส่ง ต้องถือว่าการขนส่งของชาติมิใช่ภารกิจของราชการเพียงฝ่ายเดียวอีกต่อไป

- See more at: http://www.buildernews.in.th/page.php?a=10&n=176&cno=5240#sthash.lw4504mT.dpuf


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น